ประเด็นร้อน

เมินเฉย...เท่ากับร่วมทุจริต สำนึกแห่งความดี นศ.แฉโกง ต้นแบบสู้อำนาจมืด

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 07,2018

- - สำนักข่าวเดลินิวส์ - -

 

วรลักษณ์  อโนทัยสินทวี  รายงาน

 

วีรกรรมของเด็กวัยรุ่นที่สังคมต้องหันมาสนใจตอนนี้ คงไม่พ้นเรื่องการออกมาให้ข้อมูลทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกล้าหาญโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ ของ "น้องแบม" น.ส.ปณิดา ยศปัญญา อายุ 22 ปี นศ.สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งออกมาเปิดโปงกรณีถึงพิรุธการปลอมแปลงเอกสารของศูนย์ช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น เพื่อเบิกจ่ายเงินสำหรับผู้ยากไร้รวมกว่า 6,900,000 บาท จนนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงขยายผลตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ

 

เด็กวัยรุ่นที่มีไลฟ์สไตล์เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่เวลาว่างก็ชอบดูหนังฟังเพลง จะแตกต่างบ้างที่นิสัยลุย ๆ ทำให้ชอบเล่นกีฬายิงปืน ซึ่งเด็กรุ่นเดียวกันไม่ค่อยนิยม และจากอุปนิสัยผาดโผนเหมือนเด็กผู้ชายจึงทำให้ น้องแบม สนใจเลือกเรียนคณะพัฒนาชุมชน

 

"นสพ.เดลินิวส์" มีโอกาสพูดคุยสอบถามที่มาที่ไปถึงการตัดสินใจเลือกเส้นทางเรียน จนนำมาสู่จุดเปลี่ยนใหญ่ของชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดย น้องแบม เผยช่วงสำคัญในชีวิตอย่างการตัดสินใจเลือกคณะเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่า ช่วงสอบแอดมิชชั่นตนตั้งเป้าเลือกหลายคณะ และหนึ่งในนั้นคือคณะพัฒนาชุมชน  แต่อันดับแรกที่เลือกคือคณะครุศาสตร์ภาษาไทยเนื่องจากแม่อยากให้เป็นครู อันดับสองถึงเลือกคณะพัฒนาชุมชน และคณะรัฐศาสตร์ ตามลำดับ ตนสอบติดทุกคณะ แต่สุดท้ายตัดสินใจเลือกคณะพัฒนาชุมชน เพราะมีความตั้งใจจะเป็นนักพัฒนาหรือเป็นทหาร อีกทั้งเป็นคนที่ชอบกิจกรรมลุย ๆ และเดินเข้าป่าพูดคุยกับชาวบ้าน

 

ระหว่างเรียนได้รับการปูพื้นฐานเรื่องภาวะการเป็นผู้นำ โดยมีโอกาสได้ลงพื้นที่ตั้งแต่ปี 1  ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบว่าควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาคือ สภาพถนนที่ทรุดโทรม  แม้จะมีการซ่อมบำรุงทุกปีแต่ก็ยังพบว่าบางแห่งมีสภาพเป็นหลุมมากกว่าเดิม ชาวบ้านต้องช่วยกันลงขันซึ่งเงินเหล่านี้ก็ไม่ได้เพียงพอในการซ่อมแซม  พวกเราลงพื้นที่หาสาเหตุที่แท้จริงเกี่ยวกับปัญหาเพื่อเสนอต่อผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็ยอมรับว่าวุฒิภาวะของเราที่ยังเป็นนักศึกษา ทำให้เป็นอุปสรรคที่ผู้ใหญ่จะยอมรับฟังข้อเสนอของเรา

 

แม้จะเห็นอุปสรรคการทำงานขณะกำลังศึกษาอยู่ แต่หลังจากฝึกปรือฝีมือในสถาบันการศึกษามาระยะหนึ่งจนใกล้จบการศึกษา  ถึงเวลาต้องออกไปฝึกงานใช้วุฒิภาวะที่สูงขึ้นเผชิญกับโลกความเป็นจริง งานแรกที่ได้รับมอบหมายกลับมีความผิดปกติ ส่อไปในทางไม่ถูกต้องนั้น

 

น้องแบม เล่าว่า ที่เลือกสถานที่ฝึกงานดังกล่าว ตนเลือกจากรายชื่อที่สาขาวิชาแนะนำให้ ซึ่งรายชื่อดังกล่าวได้จากรุ่นพี่ ๆ ที่เคยไปฝึกงานแล้วได้รับการตอบรับที่ดี โดยช่วงฝึกงานมีเพื่อน ๆ เลือกฝึกงานในสถานที่เดียวกันรวม 4 คน วันแรกที่เริ่มฝึกงานเป็นการทำงานที่บ้านพักของผอ.ศูนย์ฯ  ตนและเพื่อน ๆ ได้รับมอบหมายให้กรอกเอกสารเท็จเกี่ยวกับสถานะ, ที่อยู่อาศัย, วุฒิการศึกษา, รายได้ และปัญหาที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วนของประชาชน และการเบิกจ่ายเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ซึ่งตนเซ็นเอกสารรับรองสำเนารวมแล้วเกือบ 10 ชุด และได้ขย้ำทิ้งไปบางส่วน ทำงานกับเพื่อน ๆ อยู่ประมาณ 3 สัปดาห์ มีการเซ็นรับรองสำเนาไปเกือบ 2,000 ชุด จากนั้นได้รับมอบหมายงานให้ลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุ, ผู้มีรายได้น้อย, ผู้ป่วยจิตเวช และคนไร้บ้าน

 

"ตอนนั้นได้ยินเจ้าหน้าที่โทรศัพท์หาใครไม่รู้ ขอสำเนาบัตรประชาชนให้ได้จำนวนเท่านี้ ๆ หนูก็คิดในใจว่าทำไมต้องให้คนนอกมากรอกเอกสารข้อมูล ทั้งที่ควรจะเป็นเจ้าของสำเนาบัตรประชาชนตัวจริงและเป็นผู้มีคุณสมบัติได้รับเงินสงเคราะห์ การนำคนนอกมาเซ็นรับรองสำเนามันไม่ใช่แล้วและเซ็นรับรองมากกว่า 80% ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง หนูก็ปรึกษากับ เพื่อน ๆ ที่อยู่ในชะตากรรมเดียวกันและพี่ณัฐกานต์ หมื่นพล อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเคยถูกสั่งให้ทำแบบนี้มาก่อนและได้ปฏิเสธไป จึงถูกบีบให้ออกจากงาน คิดกันนานมาก และตอนแรกจะเข้าร้องเรียน แต่ก็ไม่กล้าเพราะกลัวหลักฐานไม่พอ จนเกือบ 3 เดือนได้ข้อสรุปว่าได้เวลาที่ต้องร้องเรียนแล้ว"

 

การตัดสินใจร้องเรียนครั้งแรกไม่เป็นผล เมื่อถูกอาจารย์ที่นักศึกษาให้ความเคารพหักหลัง น้องแบม เล่าต่อว่า ส่วนหนึ่งที่อยากเข้าร้องเรียนก็เพื่อป้องกันตัวเองจากข้อหาปลอมแปลงเอกสาร แต่สาเหตุหลักคือต้องการช่วยเหลือชาวบ้านจึงได้ไปปรึกษากับอาจารย์สาขาอีกครั้ง โดยนำหลักฐานที่มีไปให้อาจารย์ดูทั้งหมด  มีอาจารย์ 2 ท่านแนะนำว่าควรแจ้งความและเปลี่ยนสถานที่ฝึกงาน ตอนแรกหัวหน้าภาคยืนยันจะเปลี่ยนสถานที่ฝึกงานให้ แต่กลับเรียกตนไปไกล่เกลี่ยที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ โดยให้ตนอธิบายเรื่องทั้งหมดต่อหน้าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่สั่งให้ตนกรอกเอกสารเท็จและบอกไปว่าตนเข้าใจผิด ไม่มีการปลอมแปลงเอกสารใด ๆ รวมทั้งให้ตนกราบขอโทษเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การฝึกงานจบด้วยดี ขณะที่นิสิตที่ทราบข่าวก็ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสภาคณาจารย์ให้สอบข้อเท็จจริงกรณีหัวหน้าภาควิชาและอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง

 

เมื่อตนทำตามที่หัวหน้าภาควิชาสั่ง หลังจากวันนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็มีท่าทีไม่ปกติ มองตนเป็นอากาศ ไม่รับไหว้ จากที่ไม่ค่อยได้สอนงานอยู่แล้วก็ไม่มีการสอนงานเลย แต่ต้องเซ็นผ่านงานให้ตน เพราะไม่ต้องการให้ตนไปร้องเรียนด้วย สุดท้ายคุยกับพี่ณัฐกานต์ พี่เขาก็ถามว่าหลักฐานพร้อมไหม ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำอะไรสักอย่าง มีคุยเล่น ๆ สร้างพลังบวกกันว่า เราเรียนด้านนี้มา ทำงานแบบนี้ เห็นอะไรต่าง ๆ ถ้ายังนิ่งเฉยจะมาทำงานพัฒนาชุมชนทำไม ครอบครัวตนก็เห็นด้วยที่จะให้ร้องเรียน เพราะทุกครั้งที่มีปัญหาก็จะหารือกับครอบครัวตลอด จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ กันสองคน เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 60 เพื่อร้องเรียนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กองทัพบก และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

ผ่านมา 2 เดือน ป.ป.ท.และ ป.ป.ช.ได้ตอบกลับมาให้ตนและพี่ณัฐกานต์เข้าให้ข้อมูลและยื่นเอกสารเพิ่มเติม จากนั้นก็มีการติดตามสอบถามความคืบหน้ากับเจ้าของสำนวนตลอด เกรงว่าเรื่องจะเงียบไป กระทั่งมีการนำเสนอข่าวออกไป จึงเข้าแจ้งความเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าถูกบังคับให้เขียนเอกสารเท็จ

 

ทั้งนี้ ก่อนร้องเรียนก็คิดถึงผลกระทบที่ตามมา แต่ไม่ใช่ประเด็กหลัก เราคิดบวกกันมากกว่า ทำให้ไม่ได้กังวลอะไร แต่ก็ได้ระวังตัวตลอดเวลา เนื่องจากไม่รู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ ผอ.ศูนย์ฯ มาตามหาที่บ้านเพื่อขอพูดคุย แต่ตนได้ปฏิเสธไป นอกจากนี้ ผอ.ศูนย์ฯ ยังไปพบอาจารย์ขอให้พาไปบ้านตน เมื่อทราบข่าวตนจึงแจ้ง เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ให้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับอาจารย์ห้ามให้ข้อมูลตนต่อ ผอ.ศูนย์ฯ และขณะนี้ตนก็ยังได้รับการดูแลจาก เจ้าหน้าที่อยู่

 

เบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อคิดไปว่าจะต้องเจอกับความกดดันและภัยต่าง ๆ แต่ใจน้องแบมใหญ่กว่านั้น เมื่อเธอเห็นว่า "สิ่งที่เราทำไปเป็นการช่วยให้ชาวบ้านหลายคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจัง และมีชาวบ้านหลายรายต้องการความช่วยเหลือ เมื่อเกิดการตรวจสอบขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ดี"

 

ทิ้งท้ายมุมมองปัญหาคอร์รัปชั่น น้องแบมได้สะท้อนแนวคิดของวัยรุ่นต่อปัญหาดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การคอร์รัปชั่นยังมีอยู่มากในสังคมไทยไม่ต่ำกว่า 50% เพราะชาวบ้านบางคนหรือประชาชนทั่วไปที่ได้รับการศึกษาไม่เพียงพอจะมองโลกตามความจริง เหมือนใช้ชีวิตเรื่อย ๆ ไม่รู้สิทธิของตนเอง ไม่รู้เท่าทันคน ทำให้มีช่องโหว่ทุจริตได้โดยง่าย เรื่องลักษณะนี้ก็อยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเมินเฉยก็เท่ากับว่าร่วมทุจริตด้วย ไม่รักประเทศเราเอง รวมทั้งเป็นความละอายแก่ใจตัวด้วย

 

คนตัวเล็ก ๆ แต่มีพลังมหาศาลที่จะทำเรื่องยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การตัด สินใจง่าย ๆ โดยเฉพาะเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ส่งผลถึงความเสียหายของประเทศ เมื่อมีผู้กล้าออกมาเปิดโปง สิ่งที่ทุกคนในสังคมพอจะทำได้คือปกป้องคนเหล่านี้ให้มีกำลังใจต่อสู้ไปจนสุดทาง.

 

ที่มาเด็กดี

 

แบม น.ส.ปณิดา ยศปัญญา พื้นเพเป็นชาว จ.ขอนแก่น เส้นทางการศึกษาเริ่มเรียนชั้นอนุบาล จนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก จ.ขอนแก่น ก่อนศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด  ในสาขาศิลป์คำนวณ

 

ทั้งนี้ระหว่างศึกษาระดับมัธยมปลาย เคยได้รับประกาศนียบัตร "คนดีศรี วย." ในโครงการธนาคารความดีของโรงเรียนด้วย

 

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw